17 มกราคม พ.ศ. 2484 ยุทธนาวีที่เกาะช้าง และ วันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ
ก่อนที่จะเกิดกรณีพิพาทระหว่าง ประเทศไทย กับ ฝรั่งเศส ในปัญหาเรื่องดินแดนอันเป็นของไทยแต่เดิม ดังที่ได้ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทยทุกคนแล้วนั้น กองเรือได้ออกไปทำการฝึกหัดในการใช้อาวุธประจำเรือต่างๆ อันเป็นงานประจำปีตลอดมาอยู่ก่อนแล้ว เพื่อเป็นการก่อให้เกิดความชำนิชำนาญในการที่จะเพิ่มพูนสมรรถภาพ ของกองทัพเรือไทยให้เป็นที่เข้มแข็ง สมกับที่เป็นรั้วทางทะเลของประเทศชาติ แต่การฝึกหัดของทหารเรือไม่ทันสิ้นสุดลงตามแผนการของกรมเสนาธิการ เหตุร้ายแรงที่คนไทยเราทั้งชาติจะให้อภัยไม่ได้ก็บังเกิดขึ้น นั่นคือเครื่องบินรบของฝรั่งเศสได้มาทำการทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนของไทย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 หลังจากนั้นหนึ่งวัน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ชาติไทยในสมัยปัจจุบันอันมีทัพเรือเป็นรั้วด้านทะเล จะไม่ยอมให้เหตุการณ์ดั่งเช่น ร.ศ. 112 อุบัติซ้ำขึ้นอีกเป็นอันขาด บทเรียนแห่งความขมขื่นครั้งนั้นได้ฝังอยู่ในหัวใจของราชนาวีไทยมาตลอดเวลา เป็นบทเรียนการรบทางทะเลที่มีค่ามากที่สุดสำหรับคนไทยสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหารเรือไทย
การปะทะและการรบในทางบก ได้เริ่มขึ้นในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่ไม่มีการประกาศสงครามระหว่างไทยและฝรั่งเศส ราชนาวีของไทยได้ทำหน้าที่ตามแผนการอยู่ตลอดเวลา แต่ดูเหมือนว่าทหารเรือปฏิบัติการเต็มหลักการไม่ได้ เนื่องจากที่ยังไม่ได้มีการประกาศสงคราม
ถึงกระนั้น กองทัพเรือได้ทำการลำเลียงทหารไปขึ้นบกยังจังหวัดชายแดนด้านทะเล ทำการรักษาปีกของทหารเรือมิให้ถูกระดมยิงจากเรือข้าศึก เรือรบของไทยทำการลาดตระเวนเพื่อค้นหาและทำลายกำลังของศัตรูที่ล่วงล้ำเข้ามาในทะเลภายใต้อาณาเขตน่านน้ำของไทย แต่ในระหว่างที่เรือรบของไทยได้ทำการแล่นลาดตระเวนตรวจตราน่านน้ำนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเรือฝ่ายข้าศึกแม้แต่ลำเดียวโผล่มาให้เห็นหน้า กองทัพเรือคงทำหน้าที่ปกป้องท้องทะเลไทยอย่างไม่หยุดหย่อน ภายหลัง กองบัญชาการกองทัพเรือได้ส่งหมวดเรือหมวดหนึ่งออกไปเฝ้ารักษาการณ์อยู่บริเวณเกาะช้างและเกาะกูด อันเป็นเกาะชายแดนสุดเขตด้านตะวันออกของไทย ในระหว่างนี้กองบัญชาการทัพเรือยังคงรอรับข่าว การเคลื่อนไหวของข้าศึกเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อวางแผนในการจำเป็นขั้นต่อๆ ไป
ในวันที่ ๑๖ ม.ค. ๘๔ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ขณะที่หมวดเรือรบรักษาการณ์ปกป้องน่านน้ำของไทยยังคงจอดอยู่ที่เดิม ได้มีเครื่องบินทะเลแบบปีกชั้นเดียวของข้าศึก ๑ เครื่อง บินมาตรวจการณ์บริเวณเกาะช้างในระยะสูง ห่างจากหมวดเรือที่ทอดสมอมาก ผบ.เรือทุกลำ สั่งให้ทหารประจำสถานีต่อสู้อากาศยาน แต่ไม่ได้ทำการยิง เพราะเครื่องบินข้าศึกได้บินหนีไปเสียก่อน การที่เรือบินข้าศึกได้มาบินร่อนตรวจการณ์ในลักษณะผิดสังเกตเช่นนี้เป็นเหตุให้ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี (น.ท.หลวงพร้อมฯ) วินิจฉัยเหตุการณ์ว่า ฝรั่งเศสอาจจะส่งเครื่องบินมาดำเนินการต่อตีหมวดเรือและสถานที่ก่อสร้างบริเวณเกาะง่าม (เพราะข้าศึกมีฐานทัพ สถานีเรือบินทะเลอยู่บริเวณเกาะกง และเกาะรง ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะช้างประมาณ ๔๐-๕๐ ไมล์) ในตอนเย็นวันนั้น น.ท.หลวงพร้อมฯ จึงสั่งให้ ร.ล.ระยอง ซึ่งเป็นเรือยามประจำอ่าว ออกเรือในตอนกลางคืนไปทำการระวังรักษาเหตุการณ์ทางทิศใต้ของเกาะกูด และในตอนค่ำวันนั้น น.ท.หลวงพร้อมฯ ได้นำเรือ ร.ล.ธนบุรี และ ร.ล.หนองสาหร่าย (เรือวางทุ่นระเบิด) พร้อมด้วย ร.ล.เทียวอุทก (เรือตรวจประมง ใช้งานเบ็ดเตล็ด เช่นจ่ายเสบียงเป็นต้น) ไปจอดที่ทางทิศตะวันออกเกาะช้าง ใกล้เกาะลิ่ม ส่วน ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี คงจอด ณ ที่เดิม ในตอนเย็นก่อนออกเรือ มีการเตรียมการ ม้วนเพดานหมด หลักเพดานที่ไม่จำเป็นได้ถอดออก คงเหลืออยู่เพียงหลักใหญ่ ๕-๖ หลักเท่านั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการที่จะเตรียมเรือเข้ารบในเวลาต่อไป
ในคืนนี้นายทหารของราชนาวีไทยได้ยินวิทยุกระจายเสียงถึงข่าวการมีชัยของกองทัพบกด้านทิศบูรพา ได้ทำลายกองพันทหารต่างด้าวของข้าศึก และยึดธงประจำกองได้ ทหารเรือที่ได้รับข่าวสารการรบพุ่งทางบกได้ยินแล้วรู้สึกภูมิใจและปลื้มใจในความสามารถของกองทัพบกไทย ทหารเรือไทยได้แต่คิดว่าเมื่อไหร่จึงจะถึงโอกาสของราชนาวีบ้าง และแล้ววันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็มาถึง วันที่ทหารเรือของไทยจะไม่มีวันลืมเลือนตลอดชีวิต วันที่ราชนาวีได้ทำการประมือกับกองเรือรบของฝรั่งเศสซึ่งมีกำลังมากกว่ากองเรือของราชนาวีไทยถึง ๔ เท่า
เช้าวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในอินโดจีนในบังคับบัญชาของ นาวาเอกบรังเยร์ เข้ามาในน่านน้ำไทยทางด้านเกาะช้าง ด้วยความมุ่งหมายที่จะระดมยิงหัวเมืองชายทะเล ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นประการสำคัญ เพื่อกดดันให้กำลังทหารของไทยที่รุกข้ามชายแดนต้องถอนกำลังกลับมา กำลังทางเรือของฝรั่งเศสได้อาศัยความมืด และความเร็วรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีจำนวนด้วยกันทั้งหมด 7 ลำ คือ เรือลาดตระเวนลาม็อต-ปีเก เรือสลุป 2 ลำ เรือปืน 4 ลำ เรือเหล่านี้ได้แยกออกเป็น 3 หมู่ หมู่ที่ 1 มี เรือลาม็อต-ปีเก ลำเดียวเข้ามา ทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย หมู่ที่ 3 มีเรือสลุป 1 ลำ กับเรือปืนอีก 3 ลำ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า เกาะช้าง ส่วนเรือดำน้ำ และเรือสินค้าติดอาวุธ คงรออยู่ด้านนอกในทะเล และไม่ได้เข้าทำการรบ
เวลา 06:05 น. เครื่องบินตรวจการณ์ฝรั่งเศสแบบ Potez จากฐานทัพเมืองเรียมในกัมพูชา บินตรวจการผ่านกองเรือไทยและยืนยันตำแหน่งเรือตอร์ปิโดไทยสองลำ เนื่องจากในคืนนั้นเรือหลวงชลบุรีพึ่งเดินทางมาถึงเพื่อเปลี่ยนผลัดกับเรือหลวงสงขลาซึ่งมีกำหนดการกลับไปฐานทัพเรือสัตหีบ สร้างความประหลาดใจให้แก่ฝ่ายฝรั่งเศส เพราะรายงานก่อนหน้าระบุจำนวนเรือตอร์ปิโดไทยเพียงลำเดียว
เวลา 06:10 น. เครื่องบินทะเลฝรั่งเศสแบบลัวร์ 130 ทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือตอร์ปิโดไทยแต่ถูกยิงตกด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน เรือฝรั่งเศสรู้จำนวนเรือไทยจึงเดินหน้าเข้าตีตามแผน แต่กองเรือไทยเริ่มไหวตัวแล้ว และได้โหมเร่งความดันไอน้ำเพื่อเตรียมปฏิบัติการ เมื่อสังเกตเห็นข้าศึกอยู่ในพิสัย เรือหลวงสงขลาจึงเปิดฉากยิงต่อสู้กับเรือลาม็อต-ปีเก ที่มีอาวุธหนักกว่ามากแต่ไม่มีมุมยิงตอร์ปิโด เนื่องจากเรือหลวงสงขลาจอดโดยหันหัวเรือไปทางฝั่งเกาะช้าง กระสุนจากเรือลาม็อต-ปีเก ทำความเสียหายแก่เรือหลวงสงขลา เกิดไฟไหม้กลางลำเรือ น้ำทะลักเข้าตัวเรือ ยุ้งกระสุนน้ำท่วม ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นาวาตรีชั้น สิงหชาญ ผู้บังคับการเรือหลวงสงขลา สั่งสละเรือใหญ่
เวลา 06:20 น. นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี สั่งถอนสมอและเคลื่อนลำประจำสถานีรบ และสั่งให้เรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงเทียวอุทกซึ่งเป็นเรือเล็กให้ถอนตัวออกไปจากสมรภูมิ
เวลา 06:38 น. เรือหลวงธนบุรีประจันหน้าเข้ากับกองเรือฝรั่งเศสและทำการยิงตอบโต้กับเรือลาม็อต-ปีเกที่ระยะ 10,000 เมตร การรบเป็นไปอย่างหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสเข้าทำการร่วมรบรุมยิงเรือหลวงธนบุรีด้วย กระสุนนัดหนึ่งจากเรือลาม็อต-ปีเกได้ตกใต้สะพานเดินเรือและเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีรวมทั้งนายทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหลายนาย ส่งผลให้การบังคับบัญชา สื่อสาร และควบคุมหยุดชะงัก ระบบถือท้ายเสียหายบังคับทิศทางไม่ได้
เวลา 06:45 น. หลังจากยืนหยัดทำการรบได้ 35 นาที ในขณะเดียวกัน เรือหลวงชลบุรี ได้ทำการยิงต่อสู้กับหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสที่ตรงเข้ามารุมโจมตีถูกกระสุนที่ท้ายเรือและกลางเรือ เกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย เรือเอกประทิน ไชยปัญญา ผู้บังคับการเรือหลวงชลบุรี สั่งสละเรือใหญ่
เวลา 06:53 น. หลังจากยืนหยัดทำการรบได้ประมาณ 40 นาที ซึ่งภายหลังมีรายงานจากฝ่ายไทยว่ากองเรือฝรั่งเศสได้กระทำการผิดธรรมเนียมการรบทางทะเล โดยใช้ปืนกลกราดยิงทหารเรือไทยที่ลอยคออยู่ในทะเลอีกด้วย
เวลา 07:15 น. ผลจากการถูกรุมยิงทำให้เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นบนเรือหลวงธนบุรี แต่ทหารบนเรือไทยที่เหลือเพียงลำเดียวยังคงทำการยิงต่อสู้ โดยสลับเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เรือฝรั่งเศสทั้งสามลำ เมื่อระบบถือท้ายเสียหาย ป้อมปืนไม่ทำงาน (ทหารฝ่ายไทยต้องใช้วิธีการหมุนป้อมปืนด้วยมือเอง) ทำให้การยิงโต้ตอบของเรือหลวงธนบุรีเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังสร้างความเสียหายให้แก่เรือลาม็อต-ปีเกได้ในที่สุด
เวลา 07:40 น. มีเครื่องบิน 1 ลำบินเข้ามาทิ้งระเบิดทะลุดาดฟ้าเรือหลวงธนบุรี มีลูกเรือเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เรือทั้งหมดยังทำการรบอย่างติดพัน ป้อมปืนที่เหลือของเรือหลวงธนบุรีไม่สามารถยิงได้อย่างแม่นยำเนื่องจากไม่อาจบังคับเรือได้ตรงทิศทาง เรือหลวงธนบุรีได้แล่นลำเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น กองเรือรบฝรั่งเศสจึงได้ส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ
เวลา 07:50 น. หลังจากถอนตัวจากการรบ เรือลาม็อต-ปีเก ได้ยิงตอร์ปิโดอีกชุดเข้าหาเรือหลวงธนบุรีที่ระยะ 15,000 ม. แต่พลาดเป้า ในขณะที่เรือหลวงธนบุรียังทำการยิงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดเรือทั้งหมดได้เคลื่อนออกนอกพิสัยทำการรบ
เวลา 08:20 น. เรือหลวงธนบุรีหยุดยิง
เวลา 08:40 น. นาวาเอกเรจี เบรังเยร์ ออกคำสั่งให้กองเรือฝรั่งเศสมุ่งหน้ากลับฐานทัพ ที่เมืองไซ่ง่อน
เมื่อเรือรบฝรั่งเศสล่าถอยไปจากบริเวณเกาะช้างแล้ว ป้อมปืนต่าง ๆ ในเรือหลวงธนบุรี จึงหยุดยิงเมื่อเวลา 8.20 น. ทหารประจำป้อมปืนต่างพากันเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อม ๆ กัน ด้วยความดีใจที่สามารถขับไล่ข้าศึกไปได้ จากนั้นทั้งหมดก็ได้ช่วยกันดับไฟที่ไหม้เรืออยู่อย่างหนัก แต่ไฟก็ไม่สงบลง เรือเอกทองอยู่ สว่างเนตร์ ต้นเรือซึ่งทำหน้าที่แทนผู้บังคับการเรือ จึงตัดสินใจไขน้ำเข้าคลังกระสุนและดินปืน เพื่อป้องกันดินปืนและกระสุนต่าง ๆ ระเบิดเมื่อไฟลุกลามไปถึง ทำให้น้ำไหลเข้าเรือเร็วขึ้นและเอียงไปทางกราบขวา แต่เรือก็ยังใช้จักรเดินต่อไปด้วยความสามารถของพรรคกลิน ต่อมาเมื่อไฟไหม้ลุกลามไปถึงหลังห้องเครื่องจักร ควันไฟและควันระเบิดได้กระจายไปถึงห้องเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และห้องไฟฟ้า ทำให้ทหารพรรคกลินในห้องไฟฟ้า 8 นายขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ผู้ที่อยู่ข้างนอกจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือนายทหารดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีไฟไหม้สก้ดอยู่ที่ปากทางช่องขึ้นลงไปยังห้องเครื่องของเรือ
เมื่อเรือรบฝรั่งเศสล่าถอยไปจากบริเวณเกาะช้างแล้ว ป้อมปืนต่าง ๆ ในเรือหลวงธนบุรี จึงหยุดยิงเมื่อเวลา 8.20 น. ทหารประจำป้อมปืนต่างพากันเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อม ๆ กัน ด้วยความดีใจที่สามารถขับไล่ข้าศึกไปได้ จากนั้นทั้งหมดก็ได้ช่วยกันดับไฟที่ไหม้เรืออยู่อย่างหนัก แต่ไฟก็ไม่สงบลง เรือเอกทองอยู่ สว่างเนตร์ ต้นเรือซึ่งทำหน้าที่แทนผู้บังคับการเรือ จึงตัดสินใจไขน้ำเข้าคลังกระสุนและดินปืน เพื่อป้องกันดินปืนและกระสุนต่าง ๆ ระเบิดเมื่อไฟลุกลามไปถึง ทำให้น้ำไหลเข้าเรือเร็วขึ้นและเอียงไปทางกราบขวา แต่เรือก็ยังใช้จักรเดินต่อไปด้วยความสามารถของพรรคกลิน ต่อมาเมื่อไฟไหม้ลุกลามไปถึงหลังห้องเครื่องจักร ควันไฟและควันระเบิดได้กระจายไปถึงห้องเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และห้องไฟฟ้า ทำให้ทหารพรรคกลินในห้องไฟฟ้า 8 นายขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ผู้ที่อยู่ข้างนอกจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือนายทหารดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีไฟไหม้สก้ดอยู่ที่ปากทางช่องขึ้นลงไปยังห้องเครื่องของเรือ
เวลา 9.50 น. เรือหลวงช้าง ภายใต้การบังคับบัญชาของเรือเอกสนิท อังกินันท์ ได้นำเรือเข้าช่วยดับไฟที่ไหม้อยู่อย่างหนักบนเรือหลวงธนบุรี แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะสายสูบน้ำผ้าใบยาวไม่พอที่จะลากหัวสูบไปฉีดให้ถึงห้องต่าง ๆ ภายใต้ดาดฟ้าเรือได้ เรือหลวงช้างจึงเปลี่ยนวิธีเป็นทำการลากจูงเรือหลวงธนบุรีไปพลางพร้อมทั้งทำการดับไฟในเรือไปด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ผลอีก เมื่อเห็นหมดทางที่จะแก้ไขได้แล้ว ผู้บังคับการเรือหลวงช้างจึงตัดสินใจจูงเรือหลวงธนบุรีให้ไปเกยตื้นที่บริเวณแหลมงอบ
เวลา 11.30 น. เรือหลวงธนบุรีถูกจูงมาถึงเขตน้ำตื้นและไม่สามารถลากจูงต่อไปได้ ต้นเรือเรือหลวงธนบุรีจึงสั่งให้ลำเลียงทหารบาดเจ็บลงเรือหลวงช้าง แล้วให้สละเรือใหญ่ ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงและทหารเรือส่วนหนึ่งยังคงพยายามดับไฟในเรือหลวงธนบุรีต่อไปแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเรือหลวงธนบุรีก็จมลงเมื่อเวลา 16.40 น. โดยจมไปทางกราบเรือทางขวา เสาทั้งสองเอนจมลงไป กราบซ้ายและกระดูกงูกันโคลงโผล่อยู่พ้นน้ำ
จ.อ.ทองสุก ดาวคล้อย ประจำปืนเบา เล่าว่า
"...ข้าพเจ้าช่วย พลฯแวว ยกหีบลูกปืนเบา เข้าไปหลบไว้ ในช่องทางเดินนายพล จวนจะถึงประตูห้องนายพล ก็วางหีบลูกปืนลงไว้ ยกเท้าก้าวต่อไปได้ เพียงก้าวเดียว ก็ได้ยินเสียงระเบิด และมีไฟแลบออกมา รู้สึกตัวว่าหน้ามืด เซถลาจะล้มลง และพอดีมีบานประตูจากห้องนายพลปลิวกระเด็นมาทับลงบนศีรษะของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าถูกตีล้มลงทันที ข้าพเจ้าพยายามดันบานประตู และตัวคนที่ล้มทับ มองไม่ค่อยเห็นอะไร ตามหน้า แขนและข้อเท้าทั้งสองรู้สึกชาไปหมด แข็งใจลุกขึ้นยืน และเดินออกมาทางปืน ๒ กราบซ้าย ทั้งๆ ที่ตามองไม่เห็นถนัด ที่ช่องทางเดิน รู้สึกว่ามีเศษไม้ และชิ้นระเบิดเกะกะไปหมด กระสุนฝ่ายข้าศึกยังคงยิงมาตกข้างเรือหลวงธนบุรีเป็นห่าฝน ข้าพเจ้าจึงรีบลุกขึ้น วิ่งมาทางหน้าห้องกระซับ เพื่อไปยังห้องพยาบาล พอดีลูกกระสุนนัดหนึ่งมาตกข้างเรือ ฝอยน้ำของกระสุนนัดนี้ สูงขึ้นเป็นช่อลำตาล ขึ้นมาเปียกข้าพเจ้าไปทั้งตัว ทำให้ต้องกัดฟัน ทนต่อความปวดแสบปวดร้อน อันเนื่องจากน้ำเค็มสาดลงบนบาดแผล ไฟลวกตามร่างกายอย่างแสนสาหัส ต้องแข็งใจวิ่งต่อไป ทั้งๆ ที่ตัวกำลังสั่นอยู่นั้น..."
พลฯ เวียน สล่ำพู พลฯ ศูนย์กลางป้อมท้าย
"ข้าพเจ้าเห็นลูกปืนของเรา ตกระหว่างป้อมทั้งสอง ตอนท้ายเรือ ๑ ลูก และตอนระหว่างป้อมและเสาท้ายอีก ๑ ลูก แรงระเบิดทำให้เกิดควันไฟพุ่งขึ้นทั้งสองจุด"
จ.ต.ประยงค์ สังวรนิตย์ พลฯ กล้องวัดระยะทางป้อมท้าย
"เห็นกระสุนของเราถูกเรือข้าศึก ตอนกลางลำค่อนมาท้าย ต่อมา มีกลุ่มควันพุ่งขึ้นจากเรือรบลำใหญ่ของข้าศึก"
พลฯ ทองอ่อน ทองอำภา พลฯ ศูนย์ซ้ายป้อมหัว
"ข้าพเจ้าได้ยืนขึ้น มองไปทางปากช่องกล้อง แลเห็นเรือของข้าศึก ถูกปืนของเรือธนบุรี ไฟลุกขึ้นที่กลางลำพอดี"
พ.จ.ท.ตา พานทอง ผู้คุมนักโทษ ที่ทำงานบนเกาะง่าม
"ลักษณะของเรือข้าศึก ลำที่ข้าพเจ้าเห็นครั้งแรก (หมายความถึงเรือ ลามอตต์ปิเกต์) และกำลังแล่นกลับมา ครั้งหลังนี้ เท่าที่ข้าพเจ้าเห็น สะพานเดินเรือได้รับความเสียหาย พรวนชักธงไม่มี เสาธงหักขาด ที่เหลืออยู่ สูงกว่าปล่องไฟเล็กน้อย มีไฟไหม้ทางหัวเรือ และมองเห็นแสงไฟบริเวณท้ายเรือที่เริ่มปริ่มน้ำ"
นายนาถ สลักเพ็ชร ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเกาะช้าง หมู่บ้านที่ ๖ บ้านสลักเพ็ชร
"ข้าพเจ้าชวนชาวบ้านอีก ๕ คน ลงเรือแจวมาทางเกาะเหลายา ขณะที่แจวเรือมานี้ ได้ยินเสียงปืนทางเกาะไม้ซี้ ดังกึกก้องเป็นระยะๆ เมื่อมาถึงเกาะเหลา ก็ได้เห็นเรือรบฝรั่งเศสลำใหญ่ (หมายถึงเรือลามอตต์ปิเกต์) ทางใต้เกาะไม้ซี้ ที่เสาหัว เห็นควันพลุ่งขึ้น แต่ไม่มีแสงเพลิงไหม้ มองดูราบเสมอกับปล่อง เห็นเสาท้าย โด่อยู่แค่เสาเดียว"
นายสละ วงษ์ศิริ ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเกาะช้าง หมู่ที่ ๑๐ (เกาะหมาก)
"ขณะที่เรือลำใหญ่ (หมายถึงเรือลามอตต์ปิเกต์) แล่นกลับมาทางทิศตะวันตก ครั้งหลังนี้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็น เพราะบังแหลมปลายเกาะหมาก แต่ได้ยินเสียงดัง สะเทือนอย่างแรงครั้งหนึ่ง เข้าใจว่า เรือฝรั่งเศสลำใหญ่ถูกกระสุนปืนจากเรือธนบุรีเข้าอย่างจัง ฟังดูราวกับเรือระเบิด แยกเป็นเสี่ยงๆ เสียงปืนที่ยิงออกไป หยุดชั่วคราว สักครู่หนึ่ง จึงได้ยินเสียงปืนต่อไปอีก"
ผลจากการรบทำให้ฝ่ายไทยเสียเรือรบไป 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ทหารเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 36 นาย แบ่งเป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี 20 นาย (รวมนาวาเอก หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีด้วย) เรือหลวงสงขลา 14 นาย และเรือหลวงชลบุรี 2 นาย
อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี
เฉพาะเรือหลวงธนบุรีนั้น กองทัพเรือไทยได้กู้ขึ้นมาเพื่อทำการซ่อมใหญ่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่เนื่องจากเรือเสียหายหนักมาจึงได้ปลดระวางจากการเป็นเรือรบและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี เป็นอนุสรณ์ให้นักเรียนนายเรือได้ตระหนักถึงภารหน้าที่อันยิ่งใหญ่ และตัวอย่างของวีรชนคนกล้า บรรพบุรุษของพวกเขา ณ โรงเรียนนายเรือ อ.ปากน้ำ สมุทรปราการ.
ไม่มีความคิดเห็น